เมื่อคุณหมอตั้งใจจะเปิดคลินิกจะต้องมีการวางแผนทางด้านการเงิน และการบริหารที่ดี เพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัว

1.ขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลก่อน

  • ขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลอย่างถูกต้อง เมื่อมีการขึ้นทะเบียนแล้ว ธุรกิจจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่สามารถขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้
  • หากไม่ได้รับอนุญาต หรือ ไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ธุรกิจยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากรายได้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร
    สามารถยื่นขอเปิดคลินิกได้ที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข สำหรับคลินิกที่มีที่ตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ในส่วนคลินิกที่มีที่ตั้งในส่วนภูมิภาค ให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
    นอกจากนี้การเปิดสถานพยาบาลยังแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
  • สถานพยาบาลที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน เช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพบำบัด เป็นต้น
  • สถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน เช่น โรงพยาบาล สถานพยาบาลและการบำรุงครรภ์ที่สามารถคลอดลูกได้ เป็นต้น ซึ่งสถานพยาบาลประเภทนี้จะมีการกำหนดสัดส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพกับจำนวนเตียงเอาไว้

2.พิจารณารายได้ของแพทย์ผู้เป็นเจ้าของกิจการ

เมื่อเริ่มต้นจะเปิดคลินิกควรมีการพิจารณารายได้ของแพทย์ผู้เป็นเจ้าของกิจการด้วย เพื่อใช้ในการวางแผนภาษีในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากปกติแพทย์เจ้าของคลินิกมักจะมีรายได้ประจำจากโรงพยาบาลอยู่แล้ว
ซึ่งการวางแผนภาษีที่ดีจะทำให้สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้อง เงินได้ของแพทย์นั้นจะมีด้วยกัน 4 ประเภท ดังนี้
2.1 เงินได้จากสัญญาจ้างแรงงาาน หรืองานประจำ
เงินได้ส่วนนี้จะถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร นั้นก็คือ เงินเดือน เงินเวร เงิน พ.ต.ส. เงินเบี้ยเลี้ยง และค่าล่วงเวลาจากการทำงาน รายได้ในส่วนนี้สามารถหักค่าใช้จ่าย 50% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
2.2 เงินได้รับจ้างพิเศษ
เงินได้ส่วนนี้จะเป็นรายได้ที่ไม่ประจำ เช่น การรับจ้างขึ้นเวรจากโรงพยาบาลหรือคลินิกอื่นที่ไม่ได้ประจำ เงินได้จากตำแหน่งหรือหน้าที่พิเศษ เงินได้ส่วนนี้จะจัดอยู่ในเงินได้ตามมาตรา 40(2)
สามารถหักค่าใช้จ่าย 50% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เช่นเดียวกับเงินได้ตามมาตรา 40(1)
2.3 เงินได้จากวิชาชีพแพทย์ หรือ เงินได้จากคลินิก หรือ สถานพยาบาลแบบไม่มีเตียง
เงินได้ของแพทย์อาจจะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(6) ได้ แต่ต้องเป็นลักษณะที่แพทย์นั้นได้ใช้ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ทางวิชาชีพแพทย์ ในการปฏิบัติงาน และแพทย์เป็นผู้กำหนดค่ารักษาพยาบาล ตามความยากง่ายของการรักษาอย่างอิสระ
ค่าตอบแทนที่ได้รับจึงไม่แน่นอน และถ้าแพทย์ไม่ทำการรักษาก็จะไม่ได้รับค่าตอบแทน ในการคำนวณเงินได้สุทธิจากเงินได้ตามมาตรา 40(6) นี้ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจำเป็นและสมควรหรือหักแบบเหมาได้มากถึง 60% ของเงินได้
2.4 เงินได้จากการประกอบธุรกิจอื่นๆ
เงินได้จากการที่แพทย์เปิดสถานพยาบาลเป็นของตนเอง และมีเตียงสำหรับผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาพยาบาลค้างคืน และเงินได้จากการขายยาเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีแพทย์ดูแลให้คำแนะนำ
ซึ่งเงินได้ตามมาตรา 40(8) นั้นสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงหรือแบบเหมา 60% ของเงินได้

3.เลือกประเภทของธุรกิจในการเปิดคลินิก

การเปิดคลินิกก็เหมือนกับการประกอบธุรกิจทั่วไป คือ จะต้องมีการลงทุน ทั้งค่าสถานที่ ค่าอุปกรณ์ รวมถึงเครื่องมือพิเศษต่างๆ แพทย์หลายๆ คนจึงเลือกที่จะร่วมลงทุนกับแพทย์คนอื่นหรือนักลงทุนเพื่อเปิดคลินิก
หรืออาจเลือกที่จะเปิดคนเดียวก็ได้เช่นกัน ซึ่งการเลือกประเภทของการเปิดกิจการนั้นจะส่งผลต่อการวางแผนภาษีในอนาคต แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
3.1 แบบบุคคลธรรมดา
การลงทุนเช่นนี้จะไม่ต้องทำบัญชีตามมาตรฐานบัญชี แต่จะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.94 โดยต้องยื่นแบบรายการและเสียภาษีเงินได้ภายในเดือนกันยายนสำหรับเงินได้ในเดือน มกราคม-มิถุนายน
และภาษีเงินได้บุคคลลธรรมดาประจำภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.90 โดยต้องยื่นแบบรายการและเสียภาษีเงินได้ภายในนิติบุคคลภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไปสำหรับเงินได้ในเดือนมกราคม-ธันวาคม โดยนำจำนวนภาษีเงินได้ที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ด.94
มาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ การคำนวณให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 60 ของเงินได้ หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงก็ได้ และอัตราภาษีสูงสุดจะอยู่ที่ 35% และจะไม่สามารถนำผลขาดทุนไม่เกิน 5 ปี มาหักออกในปีปัจจุบันเมื่อมีกำไรได้
3.2 แบบนิติบุคคล
การลงทุนเปิดคลินิกแบบนิติบุคคล จะต้องจัดทำบัญชีตามมาตรฐานบัญชี และจะต้องมีการตรวจสอบและรับรองบัญชีโดยผู้ตรวจสอบด้วย คลินิกจะต้องยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน2 เดือนนับตั้งแต่วันครบ 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชี
เว้นแต่รอบระยะเวลาบัญชีปีแรกและปีสุดท้ายที่มีกำหนดเวลาไม่ถึง 12 เดือน และยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำรอบระยะเวลาบัญชี ตามแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน150 วัน นับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดย นำภาษีที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ด.51 ในครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ตามแบบ ภ.ง.ด.50
การเปิดคลินิกแบบนิติบุคคลหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงเท่านั้น โดยอัตตราภาษีสูงสุดจะอยู่ที่ 20% และสามารถนำผลขาดทุนไม่เกิน 5 ปี มาหักออกในปีปัจจุบันได้เมื่อมีกำไร